วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

มาปีนังทั้งที หาอะไรกินดี

"ปีนัง" เมืองนี้เป็นเมืองต้นๆ ในมาเลเซียที่นักท่องเที่ยวมักแวะเวียนมาเยื่อนนอกจาก KL, Ipoh, Malaka ปีนังเป็นเมืองที่มีเสนห์ทางวัฒนธรรมจีนฮอกเกี้ยน เพราะเมืองนี้เป็นเมืองท่าหลักในการส่งสินค้าไปประเทศต่างๆ ของมาเลเซีย ทำให้มีผู้คนหลายชาติแวะเวียนมาทั้งคนฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก ดังนั้นอาหารของคนปีนัง โดยเฉพาะของคนจีนที่นี้เลยเป็นที่กล่าวขานสำหรับผุ้คนที่มาเยือน วันนี้ผมขอแนะนำรายการอาหาร 12 อย่างที่ต้องลองเมื่อมาปีนัง ข้อมูลต่างๆ ผมนำมาแผ่นพับที่ทางการมาเลเซียแจกให้ฟรีที่สนามบิน หรือตามโรงแรม ผมเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับนักเดินทางเลยขอนำมาไว้ใน blog ผมนะครับเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ให้เฉยๆนะครับ ไม่ได้ลอกเลียน

หาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.visitpenang.gov.my
"Penang Street Food"
ในเอกสารมีแนะนำด้วยนะครับว่าร้านไหนอร่อย อยู่ตรงไหน ถ้าอยากเดินหาตามแผนที่เหมือนที่ผมเคยลองดูก็ตามสบายครับ
Banner
อาหารแนะนำเมื่อมาเมืองปีนัง
1. Char Koay Teow
เป็นอาหารจานสำคัญเลยนะครับ ใครๆมาก็ต้องหาลองกินกันพลาดไม่ได้ รสชาติหน้าตา จะคล้ายๆผัดซี้อิ้ว+ผัดขี้เมาบ้านเรา ส่วนมากแล้วจะใส่ seafood ที่มีกุ้ง หอยแครง ปลาหมึก วางมาบนใบตอง ถ้าหากินตามร้านดังๆ อาจจะต้องรอนานหน่อยนะครับเพราะคนผัดจะผัดทีละ 1 จานเพื่ออะไรไม่รู้ ถ้าไม่ซีเรียสมากก็หากินตามร้านอื่นๆได้ ก็จะฟินเหมือนกัน และไม่เสียอารมณ์รอด้วยครับ ราคาประมาณ RM4.5-6.0


2. CENDOL ลอดช่อง+ถั่วแดง
บ้านเราเรียก "ลอดช่องน้ำแข็งใส" คนที่นี้มันจะใช้อาหารถ้วยนี้แทนเครื่องดื่มเย็นๆ ในช่วงยามบ่ายๆ ของวันที่แดดร้อนๆ เป็นที่นิยมของคนมาเลย์ทั้งจีน มาเลย์ และอินเดีย แต่ละร้านจะมีส่วนผสมที่แตกต่างกันไปนิดหน่อยแต่หลัก ๆ แล้ว คือ ลอดช่อง ถั่วแดงต้ม นำ้เชื่อม น้ำกะทิ และ น้ำตาลทรายแดง  จุดเด่นที่คนมาเลย์ว่าอร่อยคือ การใส่น้ำตลาดทรายแดงละเอียดจะทำให้รสชาติที่ดี และมีกลิ่นหอม แต่เค้าจะไม่เน้นที่น้ำกะทิเหมือนลอดช่องที่เมืองไทย ลองชิมดูครับ ราคาประมาณ RM1.8 - 2.5

3. FRIED OYSTER  หอยทอด
จานนี้ก็จะเหมือน หอยทอด ที่เมืองไทยแต่จะใช้หอยนางรมตัวเล็กเป็นส่วนประกอบหลักแทนหอยแมลงภู่ ถ้าร้านที่อร่อยๆ มักจะเน้นที่จะทอดให้แป้งที่ทอดกับหอยนั้นกรอบเหลือง และฟู และจะทานคู่กับซอสพริกเหมือนกับการกินหอยทอดในเมืองไทย ราคาประมาณ RM5-8.00

4. 

วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มามาเลเซียซื้ออะไรดี อะไรถูก อะไรแพง อะไรน่าลองซื้อ

มามาเลเซียซื้ออะไรดี อะไรถูก (กว่า) เพื่อเป็นของฝากกลับบ้าน หรือ ของใช้ส่วนตัว คงเป็นคำถามหลักๆที่นักเดินทางที่จะมาท่องเที่ยวประเทศนี้อยากรู้เพื่อเป็นแนวทาง ในบล๊อกนี้ผมแค่รวบรวมไว้ให้คร่าวๆ ส่วนมากแล้วจะเป็นของกิน ของใช้ซะส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าเขียนเชียร์เพื่อจะได้ค่าโฆษณานะครับ เพราะไม่ได้สักบาทแค่อยากจะแชร์ความรู้ที่มี

เนื่องจากประเทศนี้อยู่ในอาเซียนดังนั้นคงเหมือนกับประเทศไทยที่สินค้าอุปโภค บริโภคบางอย่างผลิตในประเทศ และบางอย่างผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นมาเลเซียก็เหมือนกันส่วนมากแล้วสินค้าที่ผลิตที่นี้แล้วส่งออกไปอาเซียนจะมีราคาถูกกว่าบ้านเรา 

สินค้าที่มีราคาถูกกว่าเมืองไทย
1. ขนมปังกรอบ (Biscuit) หรือพวก Snack เป็นห่อเล็กๆ, เวเฟอร์ ที่ขายในห้างเมืองไทย ส่วนมากแล้วจะมาจากประเทศนี้ 

2. น้ำส้มขวด Sunquick ถ้าใครชื่นชอบในรสชาติแบรนด์นี้ ที่นี้ราคาถูกกว่าเมืองไทย 30% ราคาโดยเฉลี่ยประมาณขวดละ RM10 แต่ที่เมืองไทยน่าจะราคา 125-160 บาท แต่น้ำหนักค่อนข้างมากนะครับ คิดให้ดีก่อน
 
3. ลูกพรุนแห้ง Sunsweet กล่องใหญ่ ที่นี้จะขายประมาณ 65-90 บาท แต่เมืองไทยขายในห้างราวๆ 135-150 บาท

4. อาหารจีน เครื่องปรุงอาหารจีน รวมถึงของแห้ง อาหารแห้ง เนื่องจากประเทศนี้มีคนจีนอยู่มาก ทำให้อาหารจีน ขนมมีราคาไม่แพง และรสชาติอร่อยกว่าบ้านเรา เช่น ขนมไหว้พระจันทร์จะมีหลากหลายรูปแบบ หลายสีไม่ใช่แค่รสชาติหลักๆ แบบเมืองไทย ดังนั้นมาแล้วอย่าลืมลองทานนะครับ

5. อะไหล่รถยนต์มือสอง เนื่องจากใกล้เมืองท่าสิงคโปร์ ดังนั้นอะไหล่มือสองจากญี่ปุ่นจะมาก และหลากหลายกว่าเมืองไทย

6. กาแฟ 3in1 ในประเทศนี้มีหลากหลายแบรนด์ให้เลือก แต่ที่กำลังมาคือ Ipoh White Coffee ครับ ต้องลองเลย ซื้อเป็นของฝากเพื่อนๆได้แบบไม่อาย บ้านเราขายประมาณ 150-170 บาทต่อห่อ แต่ที่นี้ขายประมาณ RM10-14


สินค้าต่างๆพวกอาหารแห้ง ขนมปัง ช๊อกโกแลตเหล่านี้ ท่านสามารถหาซื้อได้ในตลาดกิมหยง เมืองหาดใหญ่ครับ ถ้าท่านผ่านนะ บางทีซื้อพวกขนม ช๊อกโกแลตที่หาดใหญ่บางร้านราคาจะถูกกว่าในมาเลเซียด้วยซ้ำนะครับ เพราะสินค้าพวกนั้นเป็นสินค้าหนีภาษีนี่ครับ

สินค้าที่มีราคาแพงกว่าเมืองไทย
1. สินค้าของใช้ส่วนตัวพวก ยาสระผม  แชมพู สบู่  เพราะโรงงานหลักๆอยู่ในบ้านเรา ดังนั้นอย่าหวังว่าจะมาซื้อที่นี้เพราะราคาถูกกว่าหรือพอๆกับบ้านเราคงต้องผิดหวัง
2. สินค้าพวกเสื้อผ้า กางเกง แฟนชั่น แฟชั่นที่นี้จะล้าสมัยกว่าเมืองไทย แต่ถ้าเป็นพวกเสื้อผ้าชาวมุสลิมจะถูกกว่าบ้านเราครับ 
3. สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟ คอมพิวเตอร์
4. ข้าวสาร มาม๊า ผลไม้ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริมต่างๆ 
5. เครื่องครัวสแตนเลท มาจากเมืองไทยทั้งนั้น ไม่ต้องไปหาซื้อ

6. เครื่องดื่มแอกกอฮอล์ต่างๆ เมืองไทยถูกกว่าประมาณ 15-30% ยกเว้น duty free นะครับ
 

สรุปแล้วจริงๆ ประเทศนี้ไม่ค่อยมีอะไรถูกกว่าเมืองไทยในมุมมองของนักท่องเที่ยว นักช๊อปปิ้ง แต่การที่เรามาท่องเที่ยวประเทศนี้ ผมว่าเราควรมามองที่วัฒนธรรมการดำเนินชีวิต การกิน ความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากบ้านเรา ดังนั้นมาประเทศเค้าแล้ว จะซื้อ จะลองกินอาหารพื้นเมือง หรือซื้อสินค้าสักชิ้นที่แปลกๆเพื่อเป็นที่ระลึกบ้างก็ตามใจเถอะครับ อย่าไปคิดมาก คิดเสียว่าเราไม่ได้มาเที่ยวกันบ่อยๆ 

ดังนั้นมามาเลเซียซื้ออะไรดี 
1. เครื่องปรุง อาหารแห้ง ของอาหารจีน ท่านจะหาได้ครบ และราคาไม่แพง รวมถึงเครื่องปรุงสำเร็จรูป เช่น เครื่องต้มซุปต่างๆ เค้าจะแพคให้เรียบร้อยเลยครับ แค่ต้มน้ำใส่เนื้อสัตว์ และ ซองเครื่องปรุงเท่านั้น ที่อยากให้ลองคือ เครื่องปรุงต้มกระดูกหมู Ba Kut Teh จะเป็นที่นิยมมาก เพราะทำง่าย ราคาแค่ซองละ 45-50 บาท เป็นต้น

2. เครื่องปรุงอาหาร ส่วนประกอบ เครื่องเทศ อาหารอินเดียต่างๆ เนื่องจากประเทศนี้มีประชากรเป็นอินเดียราวๆ 20% ดังนั้นถ้าจะหาเครื่องเทศ หรือ ของพวกอินเดียๆ จะหาได้ไม่ยากครับ

3. เสื้อผ้า เครื่องประดับต่างๆ ของชาวมุสลิม และอินเดีย ราคาจะถูกกว่าเมืองไทยมาก และมีให้เลือกหลากหลายครับ

4. ขนม ของกินเล่น ขนมปังกรอบโบราณแบบจีน จะมีให้เลือกมากมาย และ บางแห่งยังคงรูปแบบการทำขนมแบบโบราณมากว่า 50ปี เช่นอบในโอ่ง และใช้กาบมะพร้าวในการเผา ดังนั้นมาแล้วต้องลองกินดูครับเพราะเมืองไทยหาทานยาก



5.ถ้าไปแถบๆ มะละกา หรือปีนัง จะมีพวกเครื่องประดับ เสื้อผ้าแบบโบราณๆ ซึ่งได้รับวัฒนธรรมจากจีนปนๆมาเลย์ หาซื้อ หาชมยากในเมืองไทยครับ

6. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่ผิดครับ เพราะประเทศนี้เป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่นิยมรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่น้อยไปกว่าประเทศอินโดนิเซีย ดังนั้นจะมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลากหลายยี่ห้อ และหลายรสชาติ ที่ให้ลองซื้อเพราะเส้นบะหมี่ที่นี้จะเหนียว และนุ่มกว่าบ้านเราครับ ปริมาณจะมากกว่าด้วยประมาณ 80 กรัม ฉะนั้นสำหรับผู้ชายคงกิน 1 ห่อพอดี รสชาติที่นิยมนะครับคือ KARI ยี่ห้อ Maggi, Prawn Mee ยี่ห้อ Ibumie HarMee ลองไปหาทาน หาซื้อฝากเพื่อนๆดูครับ รสชาติอื่นก็น่าทานครับ

7. กาแฟขาวครับ เป็นเอกลักษณ์ของประเเทศนี้ครับ ต้นตำรับจริงๆ ต้อง Ipoh White Coffee ครับ แต่ตอนนี้มีออกมาหลายเมือง เช่น Penang White Coffee เป็นต้น รสชาติของกาแฟจะเข้มข้น และออกจะมันครีมกว่ากาแฟทั่วไปครับ เนื่องจากมาจากวิธีการคั่วกาแฟที่ใส่มาจารีน (เนยเทียม) ต้องหาลองซื้อไว้เป็นของฝากได้ จริงๆบ้านเราก็มีขายครับแต่จะแพงกว่าประมาณ 40-50 บาทต่อแพค

วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557

เกร็ดความรู้ทั่วไปในการท่องเที่ยวในมาเลเซีย

โพสต์นี้เขียนจากประสบการณ์ และทัศนคติของผู้เขียนเท่านั้น  อาจจะไม่ตรงกับความคิดของใครก็อย่าว่ากันครับช่วยกันแชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลกันนะครับ

1.การเดินทางโดยรถประจำทาง
-ควรศึกษาเส้นทางและ ค่าโดยสารให้แน่ใจก่อนจะขึ้นรถ และกรุณาเตรียมเหรียญเงินเพื่อชำระค่าบริการให้พอดี เพราะคนขับรถจะไม่ทอนเงินให้แม้นแต่สตางค์เดียว การชำระเงินจะจ่ายโดยตรงให้กับคนขับ โดยผู้โดยสารทุกคนต้องเข้าคิวขึ้นรถทางประตูหน้าเพื่อชำระเงินก่อนเข้าไปในรถประจำทาง



2.อย่าพูดเรื่องศาสนา การเมือง และสีผิวเชื้อชาติ
เพราะประเทศนี้ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติหลักๆ คือมาเลย์ จีน อินเดีย เป็นต้น โดยแต่ละเชื้อชาติก็จะคิดว่าตนเองฉลาดกว่าอีก 2 เชื้อชาติจนอาจจะทำให้เกิดการทะเลาะกันได้ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์แม้นเค้าจะทำให้เราไม่พอใจ หรือบริการไม่ดี การดูถูกหรือหมิ่นประมาณเกี่ยวกับ race อาจจะมีความผิดถึงขั้นติดคุกได้ในประเทศนี้

การเมืองเป็นอีกเรื่องที่เราควรไม่วิจารณ์ในประเทศนี้ แต่คนพื้นเมืองนี้ชอบการพูดคุยเรื่องนี้โดยเฉพาะชาวจีนบนโต๊ะอาหาร การเมืองเค้าเป็นแบบประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก ดังนั้นการบริหารเลยคล้ายๆพวกมากลากไปโดยคนมาลายู

3.การจองที่พัก โรงแรม 
โดยเฉพาะโรงแรมประหยัด อย่าเชื่อจากรูปที่เห็นในเวปไซต์ เพราะมักจะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ควรเลือกพักโดยใช้ราคามาเป็นตัวตัดสินการเลือกเพราะอาจจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยจากการพัก โดยเฉพาะใน KL ถนน Bintang จะวุ่นวายเหมือนถนนข้าวสารบ้านเรา  ดังนั้นควรสอบถามจากเพื่อนหรืออ่านรีวิวก่อนจองที่พัก  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิง อย่าคาดหวังการบริการที่วิเศษสำหรับการพักแบบประหยัดเพราะท่านจะได้บริการ จากเงินที่ท่านจ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะแย่เหมือนกันหมดนะครับ ที่พักดีๆก็มีแต่น้อยมาก แต่ประเทศนี้โรงแรม 4-5 ดาวราคาห้องพักไม่แพงไปกว่าเมืองไทย บางทีท่านอาจจะได้ห้องพักใจกลางเมืองในราคาแค่ 2-3 พันบาทต่อคืน ลองเช็คดูในเนตแล้วกันครับ



4.เผื่อเวลาสำหรับการเดินทางโดยรถสาธารณะ
ท่านอาจจะเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ระหว่างการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะของประเทศนี้ เช่นการล่าช้า หรือยกเลิกทริป ดังนั้นท่านควรศึกษาเส้นทาง และเผื่อเวลาไว้ล่วงหน้าสักนิด ผู้เขียนเคยประสบเหตุการณ์มา 2-3 ครั้ง เช่นการนั่งรถบัสจากเมืองอีโปร์ไปปีนังเพื่อขึ้นเครื่องบิน เมื่อถึงเวลารถบัสเกิดการยกเลิก บริษัทรถบัสทำได้เพียงแค่ยื่นเงินค่าโดยสารที่เราเสียไปแล้วคืนเท่านั้น บริษัทจะไม่รับผิดชอบอะไรเกี่ยวกับการเดินทางของท่านทั้งนั้น ผมเคยถามเพื่อนมาเลเซีย เค้าว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่นี้ เราไม่สามารถร้องเรียนอะไรได้

5.การช๊อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า
ถ้าท่านคิดว่าจะ shopping ในห้างสรรพสินค้า หรือ Supermarket ที่ประเทศนี้มีห้างสรรพสินค้าให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะในเมืองหลวง แต่ผู้เขียนจะบอกว่าท่านไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหลายห้าง เพราะห้างสรรพสินค้าที่ประเทศนี้ไม่ว่าในเมืองเล็ก หรือใหญ่จะมีราคา หรือ โปรโมชั่นเดียวกันหมดทั้งประเทศ ยกเว้นมาเลเซียตะวันออก ดังนั้นท่านไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหลายห้าง ถ้าสินค้าถูกใจ ราคาได้ก็ซื้อเลยครับ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในประเทศนี้คือ Parkson, Aeon, The store, Econsave, Tesco แต่โปรโมชั่นอะไรก็เช็คกันเอาเองครับ แต่ส่วนมากจะเปลี่ยนทุกอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสถึงวันอาทิตย์ ดังนั้นถ้าใครต้องการรู้โปรโมชั่นว่าห้างใดลดราคาอะไรบ้าง ผู้เขียนแนะนำให้ซื้อหนังสือพิมพ์ The Star เป็นภาษาอังกฤษครับ แต่จะลงโปรโมชั่นห้างให้เป็นข้อมูลในการ shopping ได้ดี 



6. การแลกเงิน
ก่อนการเดินทางไปประเทศนี้ เมื่อท่านมีความจำเป็นจะต้องแลกเงินสกุล RM แนะนำให้ท่านแลกจากร้านค้าแลกเงินจะดีกว่าการแลกผ่านธนาคารทั้งหลายในประเทศไทย เพราะส่วนมากแล้วจะมีอัตราที่แตกต่างกันมากสำหรับสกุลเงิน RM เช่นแลกที่ร้านรับแลกเงินในอัตรา 9.80 บาท/RM แต่ถ้าท่านไปแลกกับธนาคารจะเป็นอัตรา 10.30/RM ในทางกลับกันในการแลกเงินบาทคืนก็เช่นกัน อย่าไปแลกคืนที่ธนาคารเพราะท่านจะเสียผลประโยชน์อย่างมาก ถ้าท่านที่เดินทางเข้ามาเลเซียผ่านทางด่านชายแดน ผู้เขียนแนะนำให้แลกเงินแถวด่านไทยจะได้อัตราที่ดีที่สุด ถ้าเดินทางโดยทางอื่นก็ควรแลกจากเมืองไทยมาก่อน เช่น superrich เป็นต้น

7. การใช้บัตรเครดิต
ประเทศนี้ส่วนมากร้านค้า ห้างสรรพสินค้า รับบัตรเครดิตจากชั้นนำเหมือนประเทศอื่นๆ แต่อย่าลืมนะครับว่าประเทศนี้มีอาชญากรรมในการแฮกท์ข้อมูลบัตรเครดิตอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นในการที่จะใช้บัตรเครดิต ควรที่จะใช้ในสถานที่ที่น่าจะไว้ใจได้ เช่นในโรงแรมขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เป็นต้น และถ้าคิดว่าจะใช้บัตรเครดิตในการเดินทาง กรุณานำบัตรเครดิตติดตัวไว้สัก 2-3 ใบนะครับ เพราะบางธนาคารอาจจะบล๊อกการใช้งานในประเทศนี้โดยท่านไม่ทราบ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง

8. การใช้โทรศัพท์ และอินเตอร์เนต
ผมว่าเกือบทุกคนที่มาท่องเที่ยวก็อยากจะโทรกลับเมืองไทย หรือใช้อินเตอร์เนตกับสมาร์ทโฟน เพื่อที่จะติดต่อกับเพื่อน ญาติที่เมืองไทย หรือ upload รูปภาพเก๋ๆในการเดินทาง ประเทศนี้มีผู้ให้บริการหลักๆ 3 บริษัทคือ maxis (AIS), Digi (Dtac) และ Celcom (True) ที่วงเล็บไว้ก็คือถ้าเทียบแล้วเหมือนบริการในบ้านเรา โดย maxis จะมีสัญญาณที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า แต่ท่านต้องเช็คอีกทีนะครับว่าในพื้นที่นั้น ผู้ให้บริการรายไหนดีกว่ากัน เพราะในบางพื้นที่ digi อาจจะให้บริการ internet ที่เร็วกว่าก็เป็นได้ครับ ส่วนราคาค่าให้บริการ Data ก็จะไม่ต่างกันมากในแต่ละเครือข่าย มีทั้งแบบรายวัน (RM3), รายสัปดาห์ (RM10) หรือรายเดือน (RM30) ราคาโดยประมาณครับ ดังนั้นไม่ต้องใช้หรอกครับ Data Roaming 350 บาท/ วัน จากผู้ให้บริการเมืองไทย เก็บซิมไปเลยครับ อีกอย่างนึง ไม่ต้องรีบซื้อซิม และ แพคเก็จต่างๆ ที่สนามบิน เพราะท่านจะต้องจ่ายแพงกว่าราคาปกติ ซื้อในเมืองจะถูกกว่า ส่วนการโทรกลับเมืองไทย ถ้า maxis ก็กด 1320066 ตามด้วยเบอร์โทร ส่วน digi ก็กด 1330066 ตามด้วยเบอร์โทรครับ เพื่อจะได้อัตราที่ถูกกว่า ประมาณ 2-3 บาทต่อนาที 

9. แมคโดนัลท์ และ เบอร์เกอร์คิงส์
ใครที่ชื่นชอบ Fast food แบรนด์ดังกล่าว ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปทาน เพราะทั้ง 2 ร้านจะมีราคาอาหารชุด ที่ถูกที่สุดในโลกเลยมั้ง แต่ต้องไปซื้อตามเวลาโปรโมชั่น 6-9.00/ 12-15.00/ 18-21.00 เท่านั้นนะครับ โดยราคาอาหารชุดจะเริ่มจาก RMุ6.30 สำหรับชุดแมคไก่ และจะแพงขึ้นเรื่อยๆถึงประมาณ RM9.00 สำหรับชุดอื่นๆ ขนาดก็เหมือนบ้านเราที่ขายกันชุดละ 125 บาทนั่นแหล่ะครับ แต่บางสาขาไม่มีโปรโมชั่นนี้นะครับเช่น ที่สนามบิน เป้นต้น  โปรโมชั่นนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2003 เลยมั้งนานมาก ใครมาลองแวะไปกินครับ

10. การใช้แทกซี่
แทกซี่ในมาเลเซียไม่เหมือนบ้านเราที่มีบริษัท หรือสหกรณ์ ส่วนมากแล้วแทกซี่ที่นี้มันจะเป็นแบบส่วนบุคคลมากกว่า ดังนั้นคุณภาพของรถอาจจะค่อยข้างเก่า หรือแย่มาก ไม่ค่อยเจอรถใหม่ๆเหมือนบ้านเรา และแทกซี่มักจะไม่ค่อยใช้มิเตอร์ แม้นว่าจะมีติดไว้ ดังนั้นการจะใช้บริการก็ต้องต่อรองราคากันเอง พยายามอย่าไปเรียกแทกซี่ที่อยู่รวมกันหลายๆคัน เพราะเค้ามันจะรวมหัวกันตั้งราคาค่าบริการแพงเวอร์ ดังนั้นก็ควรจะต่อรองราคาสักหน่อย แต่การเรียกแทกซี่หลังจากเวลาเที่ยงคืนนั้น ราคาจะเป็นราคา 2 เท่าของราคาปกติ อันนี้เป็นเรื่องปกติในประเทศนี้ และสิงคโปร์ และท่านจะหาแทกซี่ช่วง 5 ทุ่มครึ่งยากมาก เพราะเค้าจะรอเวลาจนถึงเที่ยงคืนแล้วค่อยให้บริการท่านด้วยราคาพิเศษ 



11. 7-11
ไม่ผิดหรอกครับ ผมจะพูดถึงร้านสะดวกซื้อร้านนี้ ร้าน 7-11 ก็มีในประเทศนี้เหมือนกัน แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่า สโลแกนไม่เหมือนบ้านเรา ที่ "หิวเมื่อไร ก็แวะมา" ที่นี้ไม่ได้มีทุกอย่างที่คุณต้องการเหมือนบ้านเรา และราคาของร้าน 7-11 ที่นี้ในแต่ละเมือง หรือแต่ละที่จะราคาไม่เท่ากันนะครับ ส่วนมากแล้วราคาจะแพงกว่าร้านโชห่วยทั่วไปซะด้วยซ้ำไปครับ เพราะที่ประเทศนี้ร้าน 7-11 คือร้านสะดวกซื้อให้บริการ 24ชม. ดังนั้นคุณต้องจ่ายสำหรับความสะดวก ไม่เหมือนบ้านเราที่ CP ทำคนไทยเสียนิสัยมองไปทางไหนก็ 7-11 ราคาเดียวทั่วไทย ยกตัวอย่างเช่น โค้กกระป๋องขนาดปกติ ราคาที่ RM2.00 ในขนาดที่ร้านโชห่วยทั่วไปจะขายในราคา RM1.5-1.7 เท่านั้น แต่มาเที่ยวประเทศเค้าก็อย่าคิดมากครับ ทำใจบ้าง หรือซื้อความสะดวก

12. ระบบรถไฟฟ้าสาธารณะ
ประเทศนี้มีระบบการเดินทางรถไฟฟ้าสาธารณะที่ดีประเทศหนึ่งในอาเซียนครับ คนส่วนมากจะเดินทางเข้าตัวเมือง KL โดยรถไฟฟ้า หรือรถไฟระหว่างเมือง โดยมีศูนย์ต่อรถไฟฟ้า รถไฟ ที่เรียกว่า KL central ท่านสามารถหารายละเอียดการเดินทางได้จากเวปไซต์ www.stesensentral.com ส่วนการเดินทางโดยรถไฟระหว่างเมืองดูรายละเอียดและจองได้ที่ www.ktmb.com.my 

13. กระดาษทิชชู
สำหรับใครที่ติดการใช้ทิชชูไม่ว่าจะเป็นการซับหน้า เช็ดปาก หรือต่างๆ ควรจะนำทิชชูส่วนตัวไปด้วย หรือไปหาซื้อตามร้านสะดวกซื้อที่นั่นก็ได้ เพราะถ้าท่านหวังจะไปหาตามร้านอาหาร หรือ ส้วม สำหรับทิชชูฟรีนั่นคงจะผิดหวังครับ เพราะประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็น Food Court หรือร้านอาหารจะไม่มีทิชชูไว้ให้ใช้ฟรี แต่จะจำหน่ายห่อละ 3 บาท แต่ถ้าเป็นร้านอาหารใหญ่ๆจะมีทิชชูให้ใช้ แต่อย่างไรก็เตรียมไปก็ดีกว่าครับ

14. ผู้ให้บริการ
ในการใช้บริการต่างๆ ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็น แทกซี่ ร้านอาหาร ไกด์ พนักงานโรงแรม เป็นต้น จะมีทั้งคนจีน คนมาเลย์ และคนอินเดียมาให้บริการ ควรเลือกใช้บริการจากคนจีนถ้าเลือกได้ หรือไม่ก็คนมาเลย์ และคนอินเดียตามลำดับ เพราะส่วนมากแล้วคนจีนจะมีนิสัยชอบช่วยเหลือ และไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่ค่อยมีอะไรแอบแฝง แต่ไม่ใช่ผมจะว่าคนมาเลย์ หรือคนอินเดียไว้ใจไม่ได้นะครับ แต่ส่วนมากแล้วมักไม่ค่อยช่วยเหลือนักเดินทางนัก และชอบเสนอบริการแปลกๆเพื่อหลอกเงินเรา แต่คนดีๆก็มีนะครับ ก็เลือกดูตามสถานการณ์แล้วกันครับ ที่เขียนเพื่อให้ระวังตัวเท่านั้นครับ

15. ปลั๊กไฟ
หลายคนคงทราบนะครับว่าปลั๊กไฟที่มาเลเซียนั้นจะใช้แบบของประเทศอังกฤษ คือ 220V 50Hz สามขา คือมีสายดินด้วย เมืองไทยจะมีแค่ 2 ขา ดังนั้นก่อนจะมาท่องเที่ยวควรหาซื้อตัวแปลงหัวปลั๊กก่อนนะครับประมาณ 40-50 บาท ถ้ามาซื้อที่นี้ก็มี แต่ถ้าซื้อแถวแหล่งท่องเที่ยวจะแพงมากกว่า 100 บาท อย่างไรก็ตามครับ ถ้าท่านใดลืมเอามา ผมแนะนำว่าจริงๆ ปลั๊กบ้านเราถ้าเป็นแบบ 2 ขากลม (ถ้าเป็นแบบ 2ขาแบน ใช้วิธีนี้ไม่ได้ครับ) ก็สามารถใช้ได้ครับ โดยเวลาเสียบเข้าเต้าปลั๊กไฟนั้น ให้ปิดสวิทซ์ก่อน (กันไฟฟ้าดูด) แล้วเอากุญแจหรือปากกาเสียบเข้าช่องด้านล่างของเต้ารับเพื่อปลดล๊อกรูปลั๊ก ขณะเดียวกันเอาปลั๊กตัวผู้ 2 ขากลมเสียบเข้าเต้ารับ หลังจากนั้นก็เปิดสวิทช์ไฟก็เป็นอันใช้ได้ครับ



วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิธีปฏิบัติ และขั้นตอนเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน

เหตุการณ์นี้คงไม่มีนักท่องเที่ยวท่านใดประสงค์จะให้เกิดระหว่างการท่องเที่ยวนะครับ  แต่อย่างไรผมก็ขอพูดถึงสักหน่อยเผื่อใครอาจจะดวงไมดี แล้วต้องประสบกับเหตุการณ์นี้จะได้พอมีความรู้ในการปฏิบัติตัว และรู้ถึงขั้นตอนการเคลมประกันภัย

ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าในการขับขี่รถในประเทศมาเลเซียถ้าเป็นไปได้ควรขับด้วยความระมัดระวังแม้นว่าท่านจะเป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายผิดก็หลีกเลี่ยงการชนกันดีกว่าครับ จะได้ไม่มีเรื่องมีราว ระยะเวลาในการเคลมประกันภัยอาจจะนานถึง 6-12 เดือน และเสียเวลามากครับ

สมมุติว่าท่านเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไม่ว่าท่านจะชนเค้า หรือเค้ามาชนเราก็ตามต้องปฏิบัติตัวดังนี้ครับ เรื่องนี้บางทีคนมาเลเซียยังไม่ทราบเลยนะครับ เพราะไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ

1. ถ่ายรูปอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน (ถ้าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บนะครับ ถ้ามีเรียกรถพยาบาลก่อนนะครับ)
2. เตรียมเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์ของเรา และ ใบขับขี่ของเรา
3. ไม่ต้องโทรหาประกันภัยนะครับ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะประเทศนี้ระบบการเคลมประกันภัยทางรถยนต์ไม่เหมือนบ้านเรานะครับ ประกันภัยจะรับเรื่องเคลมเมื่ิอได้รับจดหมายสรุปจากตำรวจและใบเสร็จจากการซ่อมรถจากอู่รถแล้วเท่านั้น เค้าถึงจะดำเนินเรื่องให้
4. ถ้ารถยนต์ของท่านเคลื่อนได้ นำรถยนต์ของท่านขับไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด แต่ถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆ จะต้องไปแจ้งที่หน่วยงานอุบัติเหตุ (ต้องสอบถามคนพื้นเมืองนะครับ)


ประเทศมาเลเซียมีกฏหมายว่า "เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ท่านมีหน้าที่จะต้องเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ ภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ว่าท่านจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด" ถ้าท่านไปแจ้งความล่าช้า หรือละเว้นการแจ้งความ ท่านมีความผิดถึงขั้นติดคุกนะครับ ท่านไม่จำเป็นจะต้องไปแจ้งความพร้อมกับคู่กรณีครับ แยกกันไปก็ได้

5. ในการแจ้งความ ตำรวจจะให้ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าท่านเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด และทำการวาดภาพเหตุการณ์จำลอง ตำรวจจะนำคำแจ้งความของท่านไปเทียบกับคู่กรณีว่าตรงกันไหม ถ้าไม่ตรงกันก็จะตรวจสอบว่าใครโกหก อาจจะมีความผิดได้นะครับ อย่ามั่วนะครับ ถ้าท่านผิดประกันภัยก็จะจ่ายให้คู่กรณีอยู่ดี
6. ถ้าการให้ความตรงกันทั้งสองฝ่าย ตำรวจจะออกจดหมายรับรองการเกิดอุบัติเหตุให้ทั้งสองฝ่าย อาจจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วันทำการ
7. ถ้าท่านเป็นฝ่ายถูก ให้ท่านนำรถยนต์ของท่านไปทำการซ่อมแซม ถ้าให้ดีซ่อมแซมที่อู่รถในประเทศมาเลเซียนะครับ ไม่อย่างนั้นทางประกันภัยของอีกฝ่าย อาจจะปฏิเสธการจ่ายเงินได้ หรือหาเรื่องตัดลดค่าซ่อมแซม
8. ที่อู่ซ่อมรถจะขอเอกสารประกันภัย จดหมายจากตำรวจ ใบขับขี่ เพื่อที่จะทำการตั้งเบิกกับบริษัทประกันภัยของคู่กรณีของท่านให้ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านจะต้องเป็นผู้ชำระค่าซ่อมแซมรถยนต์ของท่านกับทางอู่ก่อน พูดง่ายๆจ่ายก่อนแล้วค่อยเคลมจากบริษัทประกันภัย แต่โดยทั่วไปแล้วนะครับ อู่ซ่อมรถจะทำการตั้งเบิกกับบริษัทประกันภัยในจำนวนเงินที่สูงกว่า เงินที่ท่านจ่ายจริงประมาณ 3 เท่าตัว เช่นซ่อมรถไป RM1,000 แต่เค้าจะตั้งเบิกไป RM3,000 หลังจากนั้นบริษัทประกันภัยจะตัดโน้นนี่ไปเรื่อย สุดท้ายแล้วท่านอาจจะกำไรนิดหน่อย หรือเท่าทุน แต่กว่าจะเคลมได้เงินอาจจะนานกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็เป็นไปได้ครับ ยิ่งท่านอยู่ต่างประเทศความเป็นไปได้ในการได้เงินอาจจะน้อยไปอีกครับ เนื่องจากจะไม่มีคนตามเรื่องให้งัย

เป็นไงครับยุ่งยากไหม การเคลมประกันภัยในประเทศนี้ ผมถึงบอกแล้วว่าขับรถดีๆ พยายามหลีกเลี่ยงดีกว่าครับ ไม่เจ็บตัว เจ็บใจ เสียเงิน ซึ่งไม่รู้จะได้คืนไหม คิดๆแล้ว ประเทศไทยการประกันภัยดีกว่าเยอะ มาช่วยระหว่างอุบัติเหตุ ระหว่างซ่อมรถก็ไม่ต้องออกเงินไปก่อน สรุปช่วยผู้เอาประกันภัยเกือบทั้งหมดครับ

ขอให้สนุกสนานกับการเดินทางเที่ยวประเทศมาเลเซียนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การขับรถในมาเลเซีย

ในการท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้อรรถรส รวมถึงการสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม การขับรถเที่ยวนั้นคือคำตอบครับ มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีการคมนาคมทางบกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แต่ก็แลกกับการจ่ายเงินค่าทางด่วนนะครับ 

การเดินทางเข้ามาเที่ยวมาเลเซียที่ดี และสะดวกที่สุดคือ ทางหลวง E1 หรือ North Highway ซึ่งเข้าทางด่านสะเดา (ด่านนอก) ส่วนด่านทางมาเลเซียคือ Pukit Kayu Hitam เส้นทางนี้เป็นเสมือนเส้นเลือดหลักของมาเลเซียเนื่องจากจะยาวจากชายแดนด่านไทยไปจนถึงชายแดนด่านประเทศสิงคโปร์เลยทีเดียว

การขับรถในประเทศมาเลเซียนั้นไม่ยากเลยครับ หลังจากทำพิธีการต่างๆเกี่ยวกับนำรถเข้ามา และประกันภัยแล้ว ผมว่าน่าจะมารับทราบเกี่ยวกับกฎ ระเบียบการขับรถในประเทศนี้กันบ้าง 

การขับขี่รถไม่ต่างจากเมืองไทยมากมายนัก คือขับทางขวาเหมือนกัน แต่ตำรวจจะเข้มงวดเรื่องกฎ ระเบียบมาก และผู้ขับรถส่วนมากจะทำตามกฏ และมีมารยาท

1. ทุกคนในรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แม้นจะนั่งในแถวหลัง  และไม่สามารถบรรทุกคนเกินกว่าจำนวนเข็มขัดนิรภัยที่มีในรถนะครับ ถ้าไม่คาดเข็มขัด ถ้าตำรวจจับจะโดนปรับ RM100-300

2. เรื่องความเร็ว สำคัญนะครับเนื่องจากตำรวจจะเคร่งมากครับ จะมีกล้องทั้งแบบติดถาวร และใช้กล้องอินฟาเรดเช็คสม่ำเสมอ เราต้องคอยสักเกตตามป้ายที่จะแจ้งผู้ขับขี่เป็นระยะๆ โดยสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้

-บนทางด่วนไม่เกิน 110km/h แต่ทางด่วนบางช่วงก็กำหนดไว้แค่ 90km/h เช่นช่วงทางแยกข้ามสะพานปีนัง ที่ Butterworth คนส่วนมากมักจะไม่รู้ แล้วเป็นแหล่งหารายได้ของตำรวจ สังเกตป้ายกำหนดความเร็วข้างทางให้ดีครับ

-ห้ามจอดรถบนทางด่วนไม่ว่ากรณีใดๆ ยกเว้นรถเสียนะครับ ถ้าฝ่าฝืนจะโดนปรับไม่เกิน RM300 จริงๆเค้ามีป้ายสีเหลืองเตือนข้างทางครับ แต่ดันเป็นภาษามลายู อ่านไม่ออกครับ ทุกช่วง 30km จะมีจุดพักรถเป็นช่วงๆ ครับถ้าจะจอดโทรศัพท์ เข้าห้องน้ำ นอนพัก ก็ทำได้นะครับ ไม่เสียเงิน
-ถนนทั่วไประหว่างเมืองไม่เกิน 90km/h 
-ถนนในเขตชุมชนไม่เกิน 60km/h
-หน้าโรงเรียนไม่เกิน 30km/h

สำหรับเรื่องกล้องจับความเร็วนั้น หน้าตาก็จะคล้ายๆกับบ้านเราที่เป็นกล่องสีน้ำตาลติดไว้สูงๆ เหมือนตามสี่แยกบ้านเรา แต่กล้องดังกล่าวจะติดไว้ตามข้างถนน อาจจะสังเกตได้จากรถข้างๆ ถ้าเค้ามีการลดความเร็ว และขับตามๆกันเป็นแถว ให้พึงระวังเลยว่าอาจจะมีกล้องจับความเร็วแถวๆนั้น

สำหรับกล้องจัดความเร็วแบบปืนยิง หรือ อินฟาเรดนั้นส่วนมากทางตำรวจจะใช้จับความเร็วบนทางด่วนระหว่างเมืองเสียมากกว่า โดนตำรวจจะไปซุ่มอยุ่ตามเกาะกลางถนน พวกเกาะกลางที่มีพุ่มไม้หนาๆ หรือใต้สะพานถนนข้างทางด่วน เวลาขับบนทางด่วนให้สังเกต ก่อนผ่านสะพาน แต่่ส่วนมากแล้วถ้าวันไหน ฟ้าครึมฝน มันไม่ค่อยเจอตำรวจมาซุ่มจับความเร็วเท่าไรนัก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยันมากช่วงเทศกาล เช่นช่วงตรุษจีน ดังนั้นช่วงเทศกาลขับระวังๆหน่อย ถ้าโดนจับเรื่องความเร็วก็ประมาณ RM300 สำหรับค่าปรับ

3. มารยาทการหลบให้รถข้างหลังที่มาเร็วไปก่อน จริงๆแล้วข้อนี้เป็นมารยาททั่วไป เหมือนกันทั่วโลก ถ้าคุณอยู่ในเลนขวาสุด แล้วมีรถหลังเข้ามาจี้ท้าย คุณต้องมีมารยาทหลบให้เค้าไปก่อน แต่เมืองไทยมักไม่เป็นเช่นนั้น แม้นจะกดแตร่ขนาดไหนก็ตาม ที่มาเลย์เค้าจะไม่กดแตร่ไล่คุณ แต่เค้าจะขับจี้ตามคุณไปเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่หลบให้ เค้าถือว่าคุณไม่มีมารยาทในการใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้นเวลาขับรถโดยเฉพาะบนทางด่วนกรุณามองกระจกหลังสม่ำเสมอว่ามีรถไหนจี้ท้ายรถคุณอยุ่ไหม ถ้ามีกรุณาหลบให้เค้าไปก่อน หรือ ขับทางเลนซ้ายเมื่อคุณขับช้า

4. การกดแตร่ ถือว่าเป็นการเสียมารยาทอย่างแรงมาก ในประเทศนี้ หรือสิงคโปร์ ดังนั้นไม่ควรกดแตร่บ่อยถ้าไม่จำเป็น 

5. ห้ามใช้โทรศัพท์ขนาดขับรถนะครับ  โดยตำรวจจะคอยดักดูเป็นระยะ โดยเฉพาะแถว butterworth เมื่อคนขับโทรศัพท์ตำรวจจะขี่มอไซค์ตามแล้วเรียกให้จอด ค่าปรับ RM300 นะครับ ไม่เหมือนบ้านเราที่มีกฏหมายแต่ไม่ค่อยจับปรับเท่าไร

6. การจอดรถซ้อนคัน ตามตึกจอดรถ หรือห้างสรรพสินค้า ไม่นิยมที่จะจอดรถซ้อนคันปิดท้ายเหมือนในเมืองไทย เค้าจะจอดรถในช่องที่ทางตึกได้กำหนดไว้ กรุณาดูรถข้างๆด้วยแล้วกันครับ

7. การใส่เบรคมือ หรือเข้าเกียร์ P เมื่อจอดรถ ถือเป็นเรื่องปกติในประเทศนี้ 

8. การจ่ายค่าจอดรถ ถ้าจอดรถตามตึก หรือห้าง ในมาเลย์จะไม่มีพนักงานเก็บเงินที่ประตูทางออกลานจอดรถ เค้าจะให้ผุ้ใช้รถจ่ายเงินชำระค่าจอดรถกับตู้เก็บเงินอัตโนมัติ กรุณาศึกษาวิธีการจ่ายเงินในที่นั้นๆ หลังจากชำระค่าจอดรถแล้ว คุณมีเวลา 15 นาทีในการนำรถออกจากลานจอดรถนะครับ ถ้าเกินจะออกไม่ได้ ไม้กั้นจะไม่เปิดตอนเสียบบัตร คุณต้องเสียเวลาไปจ่ายค่าจอดใหม่ แต่ชาวบ้านจะด่าคุณเป็นแน่ ดังนั้นควรจ่ายแล้วรีบออก  



9. สำหรับคนที่จะขับในเมืองใหญ่ เช่น กัวลาลัมเปอร์ ท่านควรจะศึกษาเส้นทางให้แน่ชัดก่อนนะครับ เนื่องจากว่าเมืองนี้ มีการใช้ One way หรือ ทางด่วนกันเยอะ เมื่อขับหลง หรือ เลยทางไปแล้ว คุณจะต้องเสียเวลาอย่างมากในการกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง  

10. ถ้าโดนตำรวจเรียก กรุณาเตรียมเอกสารต่างๆให้พร้อมเพื่อแสดงแก่เจ้าหน้าที่ เช่นใบขับขี่ ทะเบียนรถ และป้ายวงกลมที่ได้จากขนส่ง เป็นต้น อย่าพูดภาษามาเลย์ หรือภาษาอังกฤษกับเจ้าหน้าที่เด็ดขาด ไม่ต้องมาโชว์ความเก่งในตอนนี้ ถ้าท่านพูดกับเจ้าหน้าที่ จะโดนหลากหลายข้อหาทันที ดังนั้นพยายามพูดไทยกับเจ้าหน้าที่ แกล้งทำเป็นสืื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ตำรวจจะกวนท่านไม่นานก็จะปล่อยถ้าท่านไม่ได้ทำผิดรุนแรง เช่นใช้ความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น

11. หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ แม้นว่าท่านจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด หรือจะโดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมถนน เพราะจะนำมาซึ่งความวุ่นวายกับท่านอย่างมากจนทำให้การท่องเที่ยวของท่านหมดสนุกไปเลย (อ่านวิธีปฏิบัติหลังจากเกิดอุบัติเหตุรถชนได้ในบทความถัดไป)

หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ เขียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ถ้าใครมีประสบการณ์อื่นใด ร่วมแบ่งปันกันได้นะครับหรือใครเคยเจอตำรวจจับในรูปแบบใดๆ มาแชร์กันได้นะครับ จะได้เป็นประโยชน์แกเพื่อนๆ ที่อยากไปเที่ยว

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

อยากจะขับรถเข้าไปเที่ยวมาเลเซียต้องทำอย่างไร

สำหรับนักท่องเที่ยวบางท่านที่อยากจะขับรถเข้าไปเที่ยวประเทสมาเลเซียนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ ถ้าท่านรู้ขั้นตอนการปฏิบัติ และจะได้ไม่โดนคนแถวด่านหลอกกินเงินฟรี หรือตำรวจทางหลวงมาเลย์หากิน รีดไถ่ได้ มีดังนี้ครับ

1. รถต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้ ไม่ควรเก่าเกินกว่า 10 ปี เพราะอาจจะเสียระหว่างทางในการท่องเที่ยว ค่าซ่อมรถที่โน้นค่าแพงนะครับ ค่าแรงชาร์จเยอะ

2. รถมีติดฟิล์มที่กระจกต้องไม่เกินกว่า 40% (แสงผ่านได้มากกว่า 60%) กระจกหน้าติดฟิล์มไม่เกิน 25% ของพื้นที่กระจก ตามกฏหมาย ซึ่งน่าจะเหมือนกับบ้านเรานะครับ

3. ถ้าเป็นไปได้เจ้าของรถควรจะเป็นผู้ขับขี่โดยตรง หรือเดินทางไปด้วย เพราะเอกสารจะไม่ยุ่งยาก

4. มีใบขับขี่ประเทศไทย รุ่นบัตรแข็ง (รุ่นใหม่) เพราะมีภาษาอังกฤษ และไม่หมดอายุ สำหรับท่านที่ยังใช้รุ่นกระดาษเคลือบพลาสติก น่าจะเป็นพวกอายุ 35+ปี ก็ไปเปลี่ยนเถอะครับจะได้ไม่ยุ่งยาก ที่จะต้องไปแปลเอกสารก่อน แต่ถ้าพวกที่ยังใช้บัตรกระดาษแข็ง ก็แค่เอาใบขับขี่ไปแปลที่ขนส่งในจังหวัดของท่านครับ จริงๆไปแปลที่ร้านไหนก็ได้ที่เค้ารับแปล แต่บางทีทางมาเลเซียเข้มงวดให้ต้องเป็นเอกสารแปลจากทางราชการเท่านั้นครับ

5. คู่มือประจำรถตัวจริง พร้อมใบแปลเอกสารจากกรมการขนส่งทางบก เมื่อก่อนอนุญาติให้แปลที่ไหนก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องที่ขนส่งเท่านั้นนะครับ

6. ติดสติกเกอร์ป้ายทะเบียนรถใหม่ 2 แผ่น เพราะทะเบียนรถไทยมีตัวนำหน้าเป็นภาษาไทย ตำรวจมาเลย์อ่านไม่ออกครับ ก็เลยต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ดูการแปลได้จากใบแปลเอกสารจากขนส่งทางบกเท่านั้นนะครับ อย่าไปมั่วแปลเอาเอง เช่น "ชค 8000" เป็น "GC 8000" ไม่ใ่ช่ไปมั่ว เป็น "CK8000" ขนาดตัวอักษร 2" ที่เขียนมารู้สึกจะยุ่งยากไหมครับ  ผู้เขียนแนะนำขับรถไปแถวๆด่าน จะมีบริการร้านรับตัดสติกเกอร์เต็มไปหมดครับ ร้านเค้าจะรู้ขนาด สี ไซท์ แค่จ่าย 200 บาท กับอีก 15 นาทีก็เสร็จแล้วครับ

หลังจากเอกสารพร้อม รถพร้อม คนพร้อม ก็นำรถไปที่ด่านชายแดนไทย นำเอกสารหนังสือคู่มือรถ+ใบแปลเอกสาร+ใบขับขี่ตัวจริง+หนังสือเดินทางคนขับรถ ไปยื่นที่ตู้ศุลกาการเพื่อทำเอกสารนำรถออกนอกราชอาณาจักรไทย โดยปกติแล้วหนังสือจะมีอายุ 1 เดือนครับ

เมื่อเอกสารพร้อม ก็เดินทางข้ามแดนกันเลยครับ พอถึงด่านมาเลเซีย Pukit Kayu Hitam (ยกตัวอย่างดานสะเดา)จะมีป้อมคล้ายป้อมเก็บเงินทางด่วน ป้อมนั้นจะเป็นที่ประทับตราหนังสือเดินทางของบุคคลในรถเก๋ง รถกระบะ หลังจากผ่านไป 5 เมตรก็ต้องชำระค่าทางด่วนทันทีครับ รู้สึกว่าตอนนี้จะประมาณ RM3.20 สำหรับรถเก๋ง เตรียมเงินไว้เลยนะครับ

หลังจากนั้นขับออกไปอีก 10 เมตรก็จะเจอตำรวจขอสุ่มตรวจสัมภาระ ตอนนี้ให้ลดกระจกรถทั้งหมดลงเพื่อให้ตำรวจดูภายในรถ ด่านนี้ไม่ค่อยเรื่องมากอะไร หลังจากนั้นอีก 10 เมตรก็จะเป็นด่านของศุลกากรมาเลเซีย เพื่อตรวจดูสัมภาระต่างๆ ที่ต้องเสียภาษี หรือของผิดกฏหมายต่างๆ ถ้าท่านใดนำเหล้า เบียร์ บุหรี่เข้ามา และศุลกากรถามว่าอยู่ในมาเลเซียกี่วัน ให้ตอบว่า "ท่องเที่ยวประมาณ 3-5 วัน" เพราะศุลกาการจะไม่อนุญาตให้นำเข้าของดังกล่าวถ้าท่านอยุ่ในประเทศไม่เกิน 3 คืน

หลังจากผ่านด่านต่างๆแล้ว ขับรถออกไปอีก 100 เมตรจะพบตึกแถวชั้นเดียว และบ้าน 1 หลังทางขวามือ นั้นคือ กรมขนส่งทางบกมาเลเซีย หรือ JPJ ก่อนที่จะนำรถเข้ามาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฏหมายประเทศนี้ ท่านจะต้องซื้อประกันชั้น 3 และลงทะเบียนที่ JPJ เพื่อให้ได้ป้ายกระดาษติดหน้ารถ สำหรับการตรวจสอบจากตำรวจทางหลวง เอกสารในการยื่นขอป้าย  ดังนี้
1.คู่มือรถฉบับแปล
2.ใบขับขี่ตัวจริง
3.ประกันชั้น 3(หาซื้อได้จากร้านค้าข้างๆ JPJ)
4.แบบฟอร์มที่กรอกพร้อมรายละเอียด

ผู้เขียนขอแนะนำให้เดินเข้าไปที่ร้านขายประกันภัย พร้อมซื้อประักันภัย แล้วให้ทางร้านเดินเอกสารเพื่อขอป้ายติดหน้ารถให้ อาจจะมีค่าบริการเพิ่มเติม อีกประมาณ RM50.00 ก็จ่ายไปเถอะไม่งั้นอาจจะยุ่งยาก เพราะทาง JPJ จะตรวจสภาพรถ ฟิล์ม ยิ่งถ้ารถอายุมากกว่า 10ปีจะผ่านการตรวจยาก

รถอายุมากกว่า 10 ปีจะเสียค่าประกันภัยชั้น 3 แพงกว่ารถใหม่

หลังจากปี 2013 ตำรวจทางหลวงเริ่มตรวจเข้มสำหรับรถต่างชาติที่เข้ามาในประเทศมาเลเซีย ดังนั้นควรยื่นขอป้ายจากกรมขนส่ง JPJ เวลาตำรวจเรียกตรวจก็แค่ยื่น เอกสารรถ เอกสารประกันภัย ป้ายวงกลม แค่นั้น ถ้าท่านไม่ทำผิดอะไรร้ายแรงก็คงไม่มีปัญหาครับ

กฏ กติกา มารยาท การรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร food court ในมาเลเซีย

หลายคนคง งง ว่าทำไมต้องมีกฏ กติกา มารยาทในการปฏิบัติตัวในการกินอาหาร Food Court เนื่องจากคนประเทศมาเลเซียมีลักษณะการรับประทานอาหารที่แตกต่างจากคนไทย โดยส่วนมาก 90% ทั้งคนจีน คนอินเดีย หรือมาเลย์มักจะรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลักทั้งเช้า กลางวัน บ่าย เย็น ดึก ดังนั้นธรรมเนียมในการกินก็ต่างไปจากบ้านเราเหมือนกัน 

1. ต้องจ่ายเงินเมื่ออาหารเสริ์ฟถึงโต๊ะ พูดง่ายๆจ่ายก่อนกิน โดยมากมักจะเป็นร้านของคนจีน แต่ถ้าเป็นร้านอาหารคนอินเดีย หรือคนมาเลย์กินก่อนจ่ายก็ได้

2. โดยปกติแล้วคนมาเลเซียมักจะจ่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มของตัวเอง แม้นว่าจะรับประทานร่วมโต๊ะกันเรา (ยกเว้น เราเลี้ยงเค้า หรือ เค้าเลี้ยงเรา) ไม่ค่อยใช้ธรรมเนียมหารเท่ากันอย่างที่คนไทยทำๆกัน

3. ร้านอาหารไม่มีบริการกระดาษทิชชูฟรี ดังนั้นอย่าลืมพกไปเอง หรือถ้าจะเอาสะดวกเค้ามีจำหน่าย ห่อละ RM0.20-0.50 ไม่ว่าจะไปกินอาหารที่ร้านอาหารไหน เมืองไหน ก็จะไม่มีทิชชูให้ ยกเว้นเป็นภัตตราคารใหญ่ๆ เป็นที่รู้กันของคนที่นั้น แต่เดี๋ยวนี้บ้านเราในบางร้านก็เริ่มจะไม่มีบริการทิชชูแล้วเหมือนกัน

4. ถ้าไปรับประทานอาหารเช้า เที่ยง ที่ food court อย่านั่งแช่นาน รีบทาน รีบไป เพราะโต๊ะมีจำกัด เค้าต้องการให้ลูกค้าใหม่มาทานบ้าง อย่าทำนิสัยสั่งกาแฟ 1 แก้วเล่นนั่งแช่สัก 1ชม. ถ้าสังเกตพนักงานจะรีบมาเก็บจาน ชาม เมื่อเรารับประทานเสร็จทันที

5. ถ้าร้านค่อนข้างแน่น แล้วโต๊ะเรามีที่เหลือ ลูกค้าใหม่ที่เข้ามามีสิทธินั่งได้ อย่าไปรังเกียจเค้า หรือหาว่าเค้าเสียมารยาท

6. โดยส่วนมากแล้วเจ้าของร้าน food court จะเป็นคนขายน้ำดื่ม ทิชชู บุหรี่เองดังนั้น รายได้หลักของเค้าคือการขายเครื่องดื่ม ดังนั้นเค้าจะไม่อนุญาติให้เราน้ำเครื่องดื่มจากภายนอกมาดื่ม และเป็นมารยาทที่จะต้องสั่งเครื่องดื่มเมื่อเข้ามาใช้บริการในร้านนี้

7. ถ้าเป็นร้านอินเดีย จะมีเคาท์เตอร์อาหารให้ตักเอง ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะทานอาหารอะไร และปริมาณมากน้อยเท่าที่ต้องการ แต่อย่าเหลือทิ้ง โดยทางร้านจะคิดเป็นอย่างๆ ไป เช่น ข้าวสวยราดแกงไก่+เนื้อทอด เค้าจะคิดค่าข้าวสวย RM1.5 แกงไก่ RM2.0 เนื้อทอด RM2.5 รวมกันเป็น RM6.00 เป็นต้น